จากผลกระทบของโรคระบาดร้ายแรง COVID-19 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตเดิม รวมถึงวิถีชีวิตการอ่านหนังสือของคนส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน การที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการจัดทำหนังสือในรูปแบบ E-book นั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเพื่อจะได้ตามกระแสค่านิยมของกลุ่มผู้อ่าน เพราะสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นอกจากมุ่งเน้นด้านการจัดทำหนังสือเพื่อขอตำแหน่งวิชาการแล้ว ยังคงให้ความสำคัญเกี่ยวกับขายหนังสือกับคู่ค้าของสำนักพิมพ์ฯ อีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2563 ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นการขยายการตลาดในรูปแบบ E-library อย่างแท้จริงของสำนักพิมพ์ มช โดยได้เพิ่มการตลาดยังคู่ค้าจำนวน 4 บริษัทกล่าวคือ 1) บริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) 2) บริษัทบุ๊คโดส จำกัด 3) บริษัทไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด และ 4) ศูนย์หนังสือแห่งจุฬา ซึ่งคาดว่าการเพิ่มจำนวนร้านค้าดังกล่าวจะส่งผลในด้านการตลาดเชิงบวกให้สำนักพิมพ์ฯในอนาคต ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปแต่ยอดขายหนังสือแบบรูปเล่มยังมียอดมากกว่าการขายหนังสือแบบ E-book โดยยอดจำหน่ายหนังสือมีจำนวนทั้งสิ้น 3,581 เล่มแบ่งเป็นยอดจำหน่ายหนังสือจำนวน 2,644 เล่มและยอดจำหน่าย E-book จำนวน 937 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ฯได้ช่วยให้คณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ตำแหน่งทางวิชาการแบ่งเป็นรองศาสตราจารย์จำนวน 15 คนและศาสตราจารย์จำนวน 6 คน ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าประสงค์ของการจัดตั้งสำนักพิมพ์ฯทุกประการ และในปีถัดไปสำนักพิมพ์ฯมุ่งเป้าขยายขอบเขตการจัดพิมพ์หนังสือในวงกว้างมากขึ้นครอบคลุมถึงบุคคลทั่วไปเพื่อให้บริการทางวิชาการแก่สังคมอย่างแท้จริง
รองศาสตราจารย์ ดร. นพพล เล็กสวัสดิ์
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานวิจัย